วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

>> โครงการพระราชดำริ

จังหวัดเพชรบุรีมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวน 11 โครงการ ดังนี้

1. โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อม แหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริเนื่องจากจังหวัดเพชรบุรีในปัจจุบันกำลังประสบปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาน้ำเสียที่เกิดจากแหล่งชุมชน ในเขตเทศบาลเมืองที่ปล่อยน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลต่างๆลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี โดยไม่ผ่านกระบวนการบำบัดน้ำเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวทางพระราชดำริ ให้สำนักงาน กปร. ร่วมกับกรมชลประทาน หาวิธีแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับขยะมูลฝอย น้ำเสีย และการรักษาสภาพป่าชายเลน โดยใช้พื้นที่ที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเลประมาณหนึ่งพันไร่ในเขตตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นสถานที่สำหรับทำการศึกษาวิจัย และพัฒนาควบคู่ไปกับการดำเนินงาน ทั้งนี้ กรมชลประทานจะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการศึกษาออกแบบ และก่อสร้างโครงการ ซึ่งจะนำน้ำเสียและขยะมูลฝอยจากเขตเทศบาลเมืองและพื้นที่ใกล้เคียงไปทำการบำบัดและกำจัดที่โครงการดังกล่าว


2.โครงการดูแลรักษาป่าไม้บริเวณป่าละอูบนและเขาพะเนินทุ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริประมาณปี พ.ศ.2517 - 2518 ได้มีราษฎรชาวไทยภูเขา (กะเหรี่ยง-กะหร่าง) เข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯบริเวณป่ายางน้ำกลัดเหนือ ยางน้ำกลัดใต้ ซึ่งอยู่ตอนเหนือของโครงการหมู่บ้าน สหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ บริวณป่าห้วยโสก ท้องที่ ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระดำริกับ นายถนอม เปรมรัศมี อธิบดีกรมป่าไม้ ณ พระราชวังสวนจิตรลดาว่า "เรื่องป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรีขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาอย่าให้มีการลักลอบตัดไม้ ถางป่า ทำไร่ ในป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี เพราะจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง แม้จะได้มีการให้สัมปทานป่าแปลงนี้ไปบ้างแล้ว ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจตราดูแลการทำไม้อย่าให้เป็นการทำลายป่าไม้เกิดขึ้น" ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ กับ นายพงษ์ โสโน อธิบดีกรมป่าไม้ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้ "เรื่องป่าเหนือเขื่อนแก่งกระจาน ได้ให้สัมปทานทำไม้ไป 2 หรือ 3 สัมปทาน แต่ป่าไม้ยังเสียหายไปหลาย Block" และ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ กับ พ.ต.อ.ถาวร จันทร์ยิ้ม ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการฝึกพิเศษ ตชด. (ค่ายพระรามหก) ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยสรุปประเด็นสำคัญ "ให้ดูแลป่าไม้บริเวณป่าละอูบน และป่าไม้บริเวณเขาพะเนินทุ่งครอบคลุมพื้นที่จรดแนวเขตแดนประเทศพม่า อย่าให้มีการลักลอบ ตัดไม้ แผ้วถาง ทำลายป่าไม้เกิดขึ้น


3. โครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ หนองพลับ - กลัดหลวงเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่ามีราษฎรจำนวนมาก ขาดที่ทำกินเป็นของตนเอง และได้บุกรุกที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นการทำลายทรัพยากรของชาติ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีโครงการจัดพัฒนาที่ดินแบบใหม่ขึ้น พระองค์ทรงเลือกบริเวณที่มีอาณาเขตติดต่อเป็นผืนเดียวกันใน ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต.ห้วยทรายเหนือ อ.ชะอำ และต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เป็นแหล่งจัดและพัฒนาที่ดินให้กับราษฎรเข้าอยู่อาศัย และทำกินไปชั่วลูกชั่วหลาน จึงได้รับสั่งให้ มจ.ภีศเดช รัชนี ติดต่อกรมพัฒนาที่ดิน ให้ดำเนินการสำรวจดิน จำแนกดิน รวมทั้งสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของราษฎรในท้องที่ ดังกล่าวเมื่อปี 2513 ผลการสำรวจปรากฏว่าสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมอบให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นเจ้าของเรื่องร่วมกับส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง ทำการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อให้มีรายได้และความเป็นอยู่ดีขึ้น


4. โครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียงตามพระราชดำริโครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียง ตามพระราชดำริ ได้กำเนิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมราษฎรที่ ต.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี พระองค์ฯได้ทรงทราบปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรตลอดทั้งการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร จึงมีพระราชดำรัสให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และผู้บังคับการฝึกรบพิเศษที่ 1 ในขณะนั้นจัดทำโครงการพัฒนาร่วมกับส่วนราชการอื่นๆ โดยพระองค์ทรงรับไว้เป็นโครงการพระราชดำริ ขั้นแรกทำการรวมกลุ่มราษฎรที่กระจัดกระจายมาอยู่รวมกัน พร้อมมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลรักษาป่าและจัดโครงการให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง โดยใช้วัสดุในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ราษฎรสามารถพึ่งตนเองได้และใช้งบประมาณอย่างประหยัดแต่ได้ผลตอบแทนคุ้มค่าสูงสุด จากกระแสพระราชดำรัสของพระองค์ฯจึงก่อให้เกิด "โครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียง ตามพระราชดำริขึ้น


5.โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าเด็ง-ป่าละอูเริ่มก่อตั้งตามแนวพระราชดำริ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงรับสั่งให้ตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ ให้การช่วยเหลือราษฎรบริเวณชายแดน โดยการจัดตั้งศูนย์พัฒนาการชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงขึ้น 2 แห่ง คือที่ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ. ประจวบฯและที่ต.สองพี่น้อง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ซึ่งติดต่อกัน


6. ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพงในปี 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ที่จะจัดทำโครงการพัฒนาชนบท โดยปรับปรุงที่ดินแห้งแล้ง ขาดธาตุอาหารให้กลับมีความอุดมสมบูรณ์ให้กับราษฎรกลุ่มชาวสวนผักชะอำ เข้าทำประโยชน์ โดยจัดสรรที่ดินทำกิน จำนวน 12,500 ไร่ ให้แก่ราษฎรที่ยากจน


7.โครงการศูนย์สาธิตสหกรณ์ดอนขุนห้วยราษฎรที่เป็นสมาชิกในโครงการจัดสรรที่ดินตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย 1 เป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีแต่ไม่เพียงพอได้เข้าทำกินในที่ดินของนิคมสร้างตนเองเขื่อนเพชร กรมประชาสงเคราะห์ แทนที่ราษฎรที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าทำกินในที่ดินจัดสรรโครงการหุบกะพง ในการเสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเยี่ยมสมาชิกชาวไร่ผักด้วยความห่วงใยทุกๆปี และทรงมีพระราชดำริว่า สมาชิกกลุ่มชาวไร่ผักมีที่ดินทำกินเพียงครอบครัวละ 2-3 ไร่ ไม่เพียงพอแก่การประกอบอาชีพ จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้นายเอนก พยัครฆันตร ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ในสมัยนั้นให้จัดหาที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งสามารถประกอบอาชีพการเกษตรให้แก่สมาชิกทำกินครอบครัวละ 15 ไร่ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้รับทราบพระบรมราโชบายดังกล่าว ได้ปรึกษาหัวหน้าส่วนราชการและนายอำเภอในจังหวัด เพื่อหาที่ดินมาจัดสรรให้แก่ราษฎร โดยเลือกที่ดินใน ต.เขาใหญ่ อ.ชะอำ ที่ชาวบ้านเรียกว่า "ดอนขุนห้วย" เป็นที่สาธารณะของแผ่นดิน ผู้ว่าฯ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบฯซึ่งพระองค์ทรงเห็นชอบตามโครงการของจังหวัดทุกประการ โดยรัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินสาธารณะประโยชน์ดอนขุนห้วย และได้ทำการรังวัดจัดสรรที่ดินแบ่งเป็นแปลงๆละ 15 ไร่ รวม 153 แปลง ต่อมาได้คัดเลือกสมาชิกชาวไร่ผักและผู้สมัครเพิ่มเติมจับสลากเข้าอยู่อาศัยทำเกษตรกรรมตั้งแต่กลางปี 2515


8.โครงการที่ดินของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถบ้านสาระเห็ดมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้ซื้อที่ดิน จำนวน 3 แปลง เนื้อที่รวม 1,358 ไร่ เพื่อจัดทำโครงการปลูกต้นไม้ เพื่อจัดทำเป็นสวนป่าตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างความสมดุลย์และสิ่งแวดล้อม การรักษาแหล่งต้นน้ำลำธาร จัดสร้างพลับพลาที่ประทับทรงงาน จัดทำสวนสัตว์เปิด


9.โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เป็นพื้นที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้เป็นที่หลวง เมื่อปี พ.ศ.2467 เดิมพื้นที่แห่งนี้มีสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ประเภทเนื้อทรายอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้ชื่อว่า "ห้วยทราย" ต่อมาราษฎรได้เข้ามาอาศัยทำกินบุกรุกแผ้วถางป่าประกอบอาชีพทางการเกษตร ในห้วงเวลาไม่ถึง 40 ปี ป่าไม้ได้ถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิงทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และมีปริมาณลดน้อยลง จนมีลักษณะเป็นพื้นที่อับฝน ดินขาดการบำรุงรักษาจนเกิดความไม่สมดุลย์ทางธรรมชาติ การพังทลายของดินค่อนข้างสูง ประกอบกับราษฎรส่วนใหญ่ปลูกสับปะรด ซึ่งต้องใช้สารเคมีปริมาณสูงทำให้คุณภาพของดินเสื่อมโทรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกระแสรับสั่ง เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่ ห้วยทรายว่า "หากปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด" เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526 ได้พระราชทานพระราชดำริแก่ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรี และ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้พัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้เอนกประสงค์จัดให้ราษฎรที่เข้าทำกินอยู่เดิม ได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าไม้ ได้ประโยชน์จากป่าไม้และไม่ทำลายป่าไม้อีกต่อไป มุ่งหมายที่จะศึกษารูปแบบการพัฒนาเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการปลูกป่าจัดหาแหล่งน้ำศึกษาวิธีทำระบบป้องกันไฟไหม้ป่า"ระบบป่าเปียก" ให้ราษฎรสร้างรายได้จากผลิตผลป่าไม้ เพาะปลูก พืชชนิดต่างๆควบคู่ไปด้วย และให้ราษฎรที่เข้ามาทำกินโดยมิชอบเข้าร่วมกิจกรรมดูแลรักษาป่าประกอบอาชีพ โดยใช้ประโยชน์จากป่าไม้ในลักษณะที่เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต นอกจากนี้ยังให้การศึกษาแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อจะให้ประชาชนผู้ยากไร้อยู่รอด และธรรมชาติอยู่รอดด้วย


10. โครงการใช้ประโยชน์ที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาทายาทโดยธรรมของนายพินิจ สุทธิวนิช ประกอบด้วย นางสาวจิตรา สุทธิวนิช ,นางบุญจบ ชิตสุข,นางลำจวน ฉายะพงศ์,นายกิตติพงษ์ สุทธิวนิช,นายเจือ สุทธิวนิช ,นางปรียานุช รวรัตน ณ อยุธยา ,นายจำนง สุทธิวนิช และนางดวงนัตน์ จันทรเพ็ญ ได้น้อมเกล้าถวายที่ดิน เนื้อที่ 39 ไร่ 1 งาน 11 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าแร้ง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา โดยได้โอนที่ดินมาเป็นกรรมสิทธิ์ของ มูลนิธิชัยพัฒนาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2541 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องประชุมหารือ เพื่อดำเนินการพัฒนาที่ดิน ดังกล่าว โดยได้ยึดพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานไว้เป็นกรอบในการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงใช้เป็นแหล่งศึกษาดูงานสำหรับนำไปเป็นแบบอย่างในการปรับปรุงการประกอบอาชีพทางการเกษตรต่อไป


11.โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพพื้นที่บริเวณเขานางพันธุรัตน์ (เขาเจ้าลายใหญ่) อันเนื่องมาจากพระราชดำริเนื่องจากได้เกิดฝนตกหนักทำให้บริเวณเขาเจ้าลายใหญ่ (เขานางพันธุรัตน์) ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ (นักอนุรักษ์ทางวรรณคดี เรียกว่า โกศนางพันธุรัตน์) เกิดถล่มลงมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริให้อนุรักษ์เขานางพันธุรัตน์ไว้ เนื่องจากมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และ วรรณคดี ให้ฟื้นฟูพื้นที่บริเวณที่มีการทรุดตัวโดยการปลูกต้นไม้เพื่อป้องกันการพังทลายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการฟื้นฟูสภาพพื้นที่เขาเจ้าลายใหญ่

ที่มา http://www.geocities.com/phetburee/data/kingproject.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

ติดต่องานแสดง 089-0056642, 081-0143925

ดาวน์โหลดเพลงรอสาย และ Ringtone ได้ที่ *492258
รหัส 2254 เพลง โดนบอกรัก
รหัส 2256 เพลง ก็แล้วแต่พ่อ
รหัส 2258 เพลง ไม่บอกไม่รู้นะเนี่ย
รหัส 2265 เพลง รู้ไหม...ใครเจ็บ